EN | TH
บทความน่าสนใจ
ภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คอนเทนต์

0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ

Focus

ภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันอกเฉียงใต้ เป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 10°S - 28°N และลองจิจูดที่ 92°E - 141°E ในทางภูมิศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย และเป็นส่วนเดียวของทวีปเอเชียที่กินพื้นที่ไปถึงซีกโลกใต้ พื้นที่นี้จึงมีลักษณะสำคัญคืออยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่จะส่งผลให้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ทำให้ได้รับน้ำฝนเป็นปริมาณมาก และมีแสงแดดแรงตลอดทั้งนี้ จึงเป็นดินแดนที่พืชพันธ์และสิ่งของจากป่าอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงอยู่ใกล้ชิดกับอู่อารยธรรมที่สำคัญอย่างจีนและอินเดีย โดยอาณาเขตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกจรดมหาสมุทรแปซิฟิคโดยมีทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรนี้ ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดกับมหาสมุทรอินเดีย โดยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอินเดียและบังกลาเทศทางทิศตะวันตก

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลายเชื้อชาติและหลายวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงสามารถดึงดูดผู้แสวงหาโชคลาภ เหล่านาวิกผู้เดินทางข้ามมหาสมุทรมาเสาะหาสินค้าและแลกเปลี่ยนซื้อขายกันที่แห่งนี้ จนเป็นเหตุให้ดินแดนดังกล่าวถูกขนานนามว่า สุวรรณภูมิ และ สุวรรณทวีป อันหมายถึง แผ่นดินและหมู่เกาะทองคำ ที่จะบันดาลความร่ำรวยให้ผู้เผชิญโชคที่เดินทางมา ณ ที่แห่งนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปและส่วนที่เป็นหมู่เกาะ ดังนี้

1. ส่วนภาคพื้นทวีป หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณแผ่นดินใหญ่ กินอาณาบริเวณด้านเหนือ ประกอบด้วย 6 ประเทศ ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งจะอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินขนาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาเลเซียส่วนตะวันตกที่เป็นส่วนปลายสุดของแผ่นดินซึ่งจะยื่นยาวลงไปในในลักษณะคาบสมุทร ด้วยภูมิศาสตร์เช่นนี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มีป่าไม้ เทือกเขาและภูเขาสูงกระจายตัวทั้งบริเวณ จึงเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญหลายสาย ที่ยังความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายน้ำในลักษณะสามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำ ในบริเวณนี้จึงเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานและสะสมอารยธรรมสร้างบ้านแปงเมืองที่สำคัญมาแต่โบราณ เช่น ที่ราบลุ่มอิรวดีของเมียนมา ที่ราบลุ่มโตเลสาบของกัมพูชา ที่ราบลุ่มลำน้ำโขงที่มีอาณาบริเวณทั้งในเวียดนามและกัมพูชา และที่ราบลุ่มเจ้าพระยาของไทย เป็นต้น

2. ส่วนที่เป็นหมู่เกาะ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณหมู่เกาะ ซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ทางด้านใต้ ได้แก่ ส่วนของมาเลเซียตะวันตก อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต้ รวม 6 ประเทศ โดยมีการนับซ้ำประเทศมาเลเซียในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากอาณาบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างมาก ประกอบกับภูมิศาสตร์ที่เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้อุดสมบูรณ์อย่างยิ่ง และยังเป็นป่าดงดิบที่บางแห่งมีอายุถึงกว่าร้อยล้านปีด้วย ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ที่เป็นเกาะขนาดเล็กเท่านั้นที่ไม่มีป่าดงดิบ ในบริเวณนี้จึงมีแดนนดี ดินดี น้ำดี ทรัพยากรที่สำคัญในอดีตจึงเป็นเครื่องเทศต่าง ๆ โดยมีหมู่เกาะโมลุกกะที่ถูกบันทึกว่าเป็นหมู่เกาะเครื่องเทศที่เหล่าพ่อค้านักเดินเรือข้ามมหาสมุทรหมายตาไว้ นอกจากนั้นยังมีเกาะสำคัญและมีขนาดใหญ่ เช่น เกาะบอร์เนียว เกาะชวา เกาะสุมาตรา หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้พัฒนาการของรัฐในอาณาบริเวณนี้ เป็นเรื่องของเมืองท่าค้าขายที่ร่ำรวยมาตั้งแต่สมัยอดีต

ภูมิศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การมีช่องแคบที่เชื่อมการเดินทางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับมหาสมุทรอินเดีย สัณฐานของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเมื่อรวมกันแล้ว ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปจะเหมือนกับต้นไม้ที่โตขึ้นมาท่ามกลางมหาสมุทรดังกล่าว และเต็มไปด้วยรากปมในส่วนที่เป็นหมู่เกาะ โดยมีช่องว่างต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นช่องแคบให้เรือน้อยใหญ่สามารถผ่านได้ ช่องแคบที่สำคัญจะมีอยู่ 4 แห่ง คือ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา ช่องแคบลอมบอก และ ช่องแคบมากัสซาร์ โดยช่องแคบมะละกาจะมีปริมาณการจราจรทางน้ำสูงที่สุด และประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติแต่ร่ำรวยได้จากการเป็นพ่อค้าคนกลาง ก็มีที่ตั้งประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ปลายสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคแผ่นดินใหญ่ที่ยื่นลงมาในมหาสมุทร หรือที่เรียกว่าคาบสมุทรไทยหรือคาบสมุทรมาเลย์ (Thai, Malay Peninsula)  ซึ่งอยู่บนช่องแคบมะละกาแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ในทางภูมิศาสตร์ธรณีสันฐาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแผ่นดินซุนดา (Sunda Plate) ซึ่งเป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานขนาดเล็กที่วางตัวคร่อมแนวเส้นศูนย์สูตรในซีกโลกตะวันออก และในยุคน้ำแข็งที่ระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันประมาณ 120 เมตร แผ่นดินซุนดานี้ได้เชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียวตั้งแต่ส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปที่รวมประเทศเมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ส่วนของอ่าวไทยในปัจจุบันที่เป็นทะเล แต่ในยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 20,000 ปีก่อน ที่ตรงนี้จะเป็นทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ต่อเนื่องไปจนถึงเกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย และด้วยการเกิดขึ้นของยุคน้ำแข็งจะมีลักษณะเป็นวงจร ดังนั้น ซากพืชและสัตว์ในบริเวณทุ่งซุนดาจึงเกิดขึ้นและถูกน้ำและตะกอนทับถมหลายครั้ง จนมีภาวะที่เหมาะสมจนกลายเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผ่นดินซุนดา เมื่อราว 15,000 ปีก่อน เป็นภูมิศาสตร์สำคัญที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุดมด้วยปิโตรเลียม และสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย

มาเป็นสมาชิก Premium กับเราในราคาพิเศษ ดูรายละเอียด
เข้าสู่ระบบ สำหรับองค์กร
Dear-ASIA.com Enterprise
ลงทะเบียน
เพื่อเป็นสมาชิก Dear-ASIA.com
หรือ
เคยลงทะเบียนแล้ว เข้าสู่ระบบ คลิก
เข้าสู่ระบบ สำหรับ
Premium Membership
หรือ
หากคุณไม่เคยลงทะเบียน สมาชิกใหม่ คลิก