EN | TH
บทความน่าสนใจ
LGBTQ+เครื่องหมายของสิทธิและความเท่าเทียมสู่ความฝันปลายสีรุ้งในโลกประชาคมอาเซียน
คอนเทนต์

0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ

Focus

ออกสำรวจความหลากหลายของชาติพันธุ์ ศาสนา และบริบทของสังคม สู่โอกาสและข้อจำกัดในการ เปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หาคำตอบผ่านบทวิเคราะห์และกรณีศึกษาจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่น่าสนใจได้ในบทความนี้

ผู้เขียน จิราพร หนูสงค์

“ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) ที่ถือกำเนิดขึ้นมาและโบกสะบัดไปทั่วโลก  เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนแห่ง “สิทธิและความเท่าเทียม” ของมวลมนุษยชาติในยุคศตวรรษที่ 21  แต่การที่จะให้ธงสีรุ้งได้โบกสะบัดไปทั่วทุกพื้นที่ในโลกนั้นต้องมาจากการยอมรับของคนในสังคมในทุก ๆ มิติของชุดความคิด  และสามารถเปลี่ยนกฎหมายให้เอื้อต่อสิทธิของความเป็นมนุษย์ได้ ความหวังของพลเมืองที่อยากจะให้ธงสีสันสดใสผืนนี้ได้ปักไปทั่วทุกๆมุมในสังคมโลกคงไม่ไกลเกินเอื้อมที่มากกว่าแค่ “ความฝัน”

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเรียกร้องในเรื่องของ “สิทธิและความเท่าเทียม”ในสังคมโลกกันอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนในเรื่องพลังด้านสิทธิด้านมนุษยชนนั้น เริ่มจะมีการก่อตัวเป็นกลุ่มสังคมเล็กๆที่มีความรู้นึกคิดที่คล้ายกัน แต่ยังเป็นปมปัญหาที่ยังคลายไม่ออก นั่นคือเรื่องของ “ความหลากหลายทางเพศ” ความหลากหลายของชาติพันธุ์อย่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ประชาคมโลกต่างจับจ้องเฝ้าดูว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งในเรื่องความแตกต่างทางเพศไปได้อย่างไร  เพราะเรายังมีความเชื่อในเรื่องของศาสนา จารีตประเพณีที่ยังค้ำคออยู่ ก่อนที่จะให้กฎหมายเป็นผู้พิพากษาถึงความแตกต่าง จากสิทธิที่มนุษย์ควรจะได้รับอย่างเต็มภาคภูมิ

รากฐานความเปิดกว้างทางเพศ จากศาสนาและพิธีกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สิทธิ”ที่ได้ติดตัวมาตั้งแต่ออกจากท้องแม่ คือ สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้รับอย่างเต็มที่ แต่ใครจะรู้บ้างว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อยู่คู่กับความหลากหลายทางเพศมานาน โดยผ่านสังคมของความเชื่อ พิธีโบราณทางศาสนาและวัฒนธรรม หรือศิลปะการแสดง ซึ่งท้องถิ่นแถบอุษาคเนย์นั้น กลับพบว่า มีการให้เพศชายแต่งตัวเป็นเพศหญิงในงานการแสดงพิธีรื่นเริงมหรสพต่างๆ  ยกตัวอย่างเช่น คนในเกาะชวาท้องถิ่นในประเทศอินโดนีเซีย มีศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่เชื่อมโยงในเรื่องของความเชื่อท้องถิ่นและเพศของผู้หญิง โดยผู้แสดงมิใช่เป็นเพศหญิง แต่กลับเป็นเพศชายข้ามเพศมาเป็นนางรำโดยชื่อว่า “lengger lanang” และถ่ายทอดเนื้อหาบริบทของความเป็นผู้หญิง ท่าทางร่ายรำแบบอ่อนช้อย ผสมท่วงท่าความแข็งแกร่งของเพศชายดูแล้วน่าเกรงขาม ซึ่งปัจจุบันการแสดงลักษณะนี้ยังคงมีในหมู่บ้านบนเกาะชวาและผู้แสดงก็ยังเป็นชายข้ามเพศเหมือนอย่างในอดีต

ออกเดินทางเช็คบริบททางสังคมต่อการเปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ประเทศที่มีกฎหมายบังคับและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนสำหรับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันอย่างเมียนมาร มาเลเซีย สิงคโปร์ นั้น มีกฎหมายและบทลงโทษสำหรับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน และยังตัดสิทธิ์การเข้ารับเป็นพลเรือน ส่วนบรูไนเป็นประเทศที่เข้มงวดมากที่สุด เพราะหากพบว่าประชากรคนใดในประเทศที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ จะถูกบทลงโทษของกฎหมายตามหลักอิสลาม(1)( Islamic Sharia Law) จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามสื่อต่างๆที่ได้นำเสนอถึงบทลงโทษของบรูไนจากการ “ปาหินจนตาย” กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกถึงบทลงโทษที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยก กีดกัน และย่ำยีความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งสวนทางกับกลุ่มสมาชิกประเทศในอาเซียนบางประเทศที่มีประเทศเปิดสังคมกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเช่นประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างทางเพศ รวมถึงการสมรสเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่ดูแลและให้สิทธิ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ชัดเจน

“ฟิลิปินส์” ความก้าวหน้าทางการเมือง กับการเปิดโอกาสการเป็นสมาชิกวุฒิสภา ของพรรคการเมืองกลุ่ม LGBTQ+

ฟิลิปปินส์ เป็นตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่ม LGBTQ+ ได้อย่างชัดเจน จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์แนว LGBTQ+ จะพัฒนาไปไกลแล้ว ฟิลิปปินส์ยังมองถึงความเท่าเทียมของเพศที่สาม โดยมีการออกกฎหมายที่ปกป้องการกระทำหรือวาจาคุกคามทางเพศโดยมีโทษทั้งจำและปรับ รวมถึงชาวต่างชาติที่ดูหมิ่นคนกลุ่มนี้จะถูกปรับและส่งกลับประเทศทันทีหากกระทำการไม่เหมาะสมต่อกลุ่มเพศที่สาม 

สิ่งที่น่าจับตามองของพลัง LGBTQ+ ในประเทศฟิลิปินส์อีกด้านหนึ่ง คือ การผลักดันกลุ่มคนข้ามเพศให้มีรายชื่ออยู่ในสมาชิกวุฒิสภาของสภาคองเกรสแห่งฟิลิปปินส์เพื่อให้คนกลุ่ม LGBTQ+ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบประเทศและการพัฒนาชีวิตคนฟิลิปปินส์ โดยมีพรรคการเมือง Ladlad ที่มีสมาชิกในพรรคทั้งหมดเป็นคนกลุ่ม LGBTQ+ อีกทั้งยังมีการทำสารคดีเกี่ยวกับการทำงานของพรรค Ladlad เพื่อให้เห็นภาพของการทำงานอย่างจริงจังและพลังของสิทธิที่เขาควรจะมีสิทธิ์ในฐานะพลเมืองของประเทศ ผ่านช่องทางสื่อ Youtube(2)  แต่พรรค Ladlad ก็ไม่สามารถคว้าที่นั่งทางการเมืองได้ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ต่อต้านและยังมีความรู้สึกถึงการ “แบ่งแยกชนชั้นทางสังคม” ด้วยลักษณะเพศที่ต่างไปจากเพศสภาพปกติ ถือว่า เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกไปจากสังคมกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก เพราะบางประเทศการส่งเสียงของคนเพศที่สามนั้นถือว่าผิดและเป็นภัยต่อสังคม แต่ฟิลิปปินส์สามารถขับเคลื่อนกลุ่ม LGBTQ+ และเปิดเผยในมุมอีกมุมที่แตกต่างในฐานะบทบาททางการเมืองได้อย่างชัดเจน

“เวียดนาม” ความเปิดกว้างของระบบราชการทหารแก่กลุ่มชายรักชาย

ทางด้านเวียดนามนั้นในช่วงสมัยปี 2014 ทางการเวียดนาม ได้มีการพิจารณากฎหมายคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิทางกฎหมายได้เหมือนกับคู่รักชายหญิง สามารถเปิดเผยสถานะในสังคมได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย และไม่ถูกปรับ เพศชายที่เป็นกลุ่มชายรักชายยังสามารถเข้ารับราชการในทางทหารได้ 

กัมพูชา จากความแตกต่างสู่การสร้างคอมมูนิติความหลากหลายทางเพศกลางกรุงพนมเปญ

ในประเทศกัมพูชามีการจัดตั้ง Gay Town แห่งแรกของกัมพูชาที่มาจากชุมชนสลัม โดยเป็นพลเมืองที่ถูกอพยพและขับไล่จากที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นคนไร้บ้าน และรวมตัวตั้งชุมชนของเพศที่สาม ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา

“ลาว” การกดทับของระบบการปกครองสังคมนิยม และค่านิยม สู่การเป็นเมืองลับแลของกลุ่ม LGBTQ+

ส่วนกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศลาวนั้นแทบจะไม่ปรากฏข้อมูลที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะชนออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ เมื่อวิเคราะห์บริบทของสภาพสังคมแล้ว ประเทศลาวนั้นเป็นประเทศที่ปกครองด้วยการนำหลักของพุทธศาสนามาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตของคนในสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยม และสะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างต้องผ่าน “อำนาจรัฐแทบทั้งสิ้น” เพราะด้วยสังคมของประเทศลาวที่ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐเป็นหลัก ทำให้การที่จะเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่ม LGBTQ รัฐจะเป็นผู้ที่คอยตรวจสอบการเผยแพร่ทุกอย่าง แม้ไม่ได้มีกฎหมายหรือบทลงโทษที่ชัดเจน และการเป็น LGBTQ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในลาว แต่การที่คนในสังคมลาวจะรักเพศเดียวกันนั้นยังไม่ถูกยอมรับเพราะสังคมที่ยังยึดติดกับค่านิยมเดิม

ท้ายสุดแล้วการเฝ้ารอความหวังของกลุ่มคนเพศที่สามอย่าง LGBTQ +นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายให้กับคนในสังคมอาเซียนที่จะต้องจับตาดูอย่างต่อเนื่อง  เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “กฎหมาย” คือตัวกำหนดกติกาในสังคม  แม้บางประเทศในภูมิภาคนี้จะไม่ได้มีกฎหมายที่ออกมาควบคุมเรื่องเพศทางเลือกอย่างชัดเจน

แต่มันถูกควบคุมไปด้วยจารีตประเพณีดั้งเดิม จนทำให้ทำให้สังคมเกิดความเคยชินจากวัฒนธรรม นำไปสู่ความไม่เข้าใจ การปิดกั้น แบ่งแยก และกดทับมนุษย์ด้วยกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งในอนาคตประเทศในประชาคมอาเซียนสามารถนำ “สิทธิ” มาเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการต่อรองหรือเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในรูปแบบมิติต่างๆ ได้หรือไม่ หรือในอนาคตอาจจะมีดินแดนที่เกิดใหม่มาเพื่อมวลมนุษยชาติที่มีความหลากหลายทางเพศ  สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวตนได้อย่างเต็มที่ และมี “ธงสีรุ้ง” เป็นธงประจำชาติของกลุ่ม LGBTQ หรือไม่ อนาคตเท่านั้นคือคำตอบ

บรรณานุกรม

ปราณี  วงษ์เทศ . (2549)  เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเณย์ )  .กรุงเทพ ฯ สำนักพิมพ์มติชน

วจนา วรรลยางกูร (2565) . ‘LGBT ลาว’ ชีวิตเปราะบางบนความอ่อนไหว - The 101 World Social Issues

กองบรรณาธิการบีบีซีภาคภาษาไทย. (256) กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามคืออะไร มีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อการปกครองแบบตาลีบัน - BBC News ไทย

หอมหวล บัวระภา(2555)  พระพุทธศาสนาลาวภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยม 2518-25331 Laos Buddhism under the Ideal of Socialism 1975-1985, วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 ภาษาและวรรณกรรม(มกราคม-เมษายน 2555), มหาวิทยาลัยขอนแก่น. หน้า 186-216

พฤภัทร ทรงเที่ยง (2562) . นิทรรศการ LGBTQ ครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวแล้วที่หอศิลป์ – THE STANDARD

ชานันท์ ยอดหงษ์ (2565) . ชานันท์ ยอดหงษ์ : LGBT เพศวิถีในอาเซียน แลตามองเพศวิถีในอัตลักษณ์ไทย - มติชนสุดสัปดาห์ (matichonweekly.com)

ลัฐกา เนตรทัศน์ (2563) . อาเซียนกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ กองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ (2565). #หนังสือก็ต้องอ่านรัฐบาลก็ต้องด่า : เมื่อโซเชียลมีเดียทำการเมืองให้เป็นป๊อปคัลเจอร์ (thematter.co)

ภาพยนตร์เรื่อง Memories of My Body -ฺ Indonesia By Garin Nugroho (film director) 

รายการสารคดี Queer Political Warriors In The Philippine Congress (LGBTQ+ Documentary) Real Stories

เชิงอรรถ

(1) ชารีอะห์ (Sharia / Shariah) ระบบยุติธรรมของศาสนาอิสลาม ซึ่งอิงกับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยส่วนใหญ่บรูไนจะใช้หลักนี้เพื่อปกครองคนในประเทศและมาเลเซียบางรัฐ

(2) รายการสารคดี Queer Political Warriors In The Philippine Congress (LGBTQ+ Documentary) เกี่ยวกับพรรคการเมือง Ladlad การรวมตัวของคนเพศLGBTQ ในการตั้งพรรคการเมือง ผ่านช่อง Real Stories ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5.4 ล้านคน

บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย

มาเป็นสมาชิก Premium กับเราในราคาพิเศษ ดูรายละเอียด
เข้าสู่ระบบ สำหรับองค์กร
Dear-ASIA.com Enterprise
ลงทะเบียน
เพื่อเป็นสมาชิก Dear-ASIA.com
หรือ
เคยลงทะเบียนแล้ว เข้าสู่ระบบ คลิก
เข้าสู่ระบบ สำหรับ
Premium Membership
หรือ
หากคุณไม่เคยลงทะเบียน สมาชิกใหม่ คลิก