0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ
Big idea
สร้างชีวิตชีวาให้ห้องเรียนประวัติศาสตร์ผ่านกิจกรรมและการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เรียน
เนื้อหาส่วนนี้เป็นการรวบรวมไอเดียการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการใช้บทเรียนประวัติศาสตร์ร่วม ด้วยการลงมือปฏิบัติซึ่งนำเสนอตัวอย่างการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติสำหรับบทเรียนประวัติศาสตร์ อีกทั้งมีแหล่งอ้างอิงในการหาข้อมูลเพิ่มเติม ครูผู้สอนสามารถศึกษาเพิ่มเติม และปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทชั้นเรียนของคุณครูได้ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดง การเล่าเรื่อง หรือการสืบสวน มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเนื้อหาประวัติศาสตร์ สามารถดึงความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มีรายละเอียดไอเดียการสอนมากมายที่เราแนะนำให้คุณครูได้นำไปลองใช้ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ ดังต่อไปนี้
*เนื้อหาในบทความนี้ ประกอบไปด้วยสาระความรู้ จาก Dear-ASIA.com และกิจกรรมการสอนที่น่าสนใจดัดแปลงจาก โครงการสร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์ร่วมรากอุษาคเนย์ โดยแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก (UNESCO)*
1. เล่าประวัติศาสตร์ผ่านตัวตนจำลอง
ให้นักเรียนรายงานเกี่ยวกับหัวข้อทางประวัติศาสตร์โดยใช้รูปแบบต่าง ๆ เช่น สมุดแปะรูป อัลบัมภาพ สตอรี่บอร์ด การ์ตูน เรื่องสั้น ข่าว หรือบทความหนังสือพิมพ์ เอกสารเผยแพร่สำหรับสื่อ บันทึกประจำวัน จดหมายถึงญาติ ป้ายนิทรรศการ ฯลฯ พอดแคสต์ (Podcast) ภาพยนตร์ และภาพยนตร์แอนิเมชั่น ก็สามารถใช้ได้ ถ้านักเรียนมีความคุ้นเคยกับซอฟต์แวร์ (Software) ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว และมีคอมพิวเตอร์ในการใช้งาน ก็สามารถสร้างตัวตนสมมติบนโซเชียลมีเดียให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยแนะนำเว็บไซต์ classtools.net ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างตัวตนสมมติทางเฟซบุ๊ค (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ ครูสามารถให้นักเรียนค้นคว้าเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ ในชั้นเรียนนักเรียน จากนั้น กรอกข้อมูลตัวตนของบุคคลนั้น และเหตุการณ์ในชีวิตที่เกี่ยวข้อง นำมาแชร์กันในชั้นเรียน ครูอาจประยุกต์ให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ในช่องทางออนไลน์นั้น ในขณะที่จำลองว่าตัวนักเรียนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน
· แนะนำใช้งานเว็บไซต์นี้: classtools.net
2. กิจกรรมศิลปะ หรืองานฝีมือ DIY
นักเรียนจะได้ประสบการณ์จากกิจกรรมแบบลงมือทำเพราะมีโอกาสได้สร้างหรือจัดการผลลัพธ์ที่จับต้องได้ อาจเป็นกิจกรรมอย่างเช่น การทำอาหาร การทำงานฝีมือท้องถิ่น หรือจำลองวัตถุสิ่งของทางประวัติศาสตร์ด้วยดินปั้น หรือแป้งโดว์ ในบทเรียนที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม นักเรียนสามารถสร้างแบบจำลองหรือวาดผังหรือเขียนแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อทำความเข้าใจสิ่งก่อสร้างและประวัติศาสตร์ของสิ่งก่อสร้างนั้นผ่านลวดลายการตกแต่งและลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ภาพถ่ายโดย Aldrich: Pixcel
3. แบบฝึกหัดพาดหัวข่าว
ให้นักเรียนอ่านพาดหัวข่าวต่าง ๆ กัน โดยแต่ละฉบับจะเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือประเด็นเดียวกัน แล้วแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานและแรงจูงใจของแต่ละฉบับ ครูอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มอ่านพาดหัวข่าวกลุ่มละ 1 ฉบับเพื่อวิเคราะห์ อาจชวนนักเรียนวิเคราะห์หาสาเหตุ การแก้ไข และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ในกลุ่ม แล้วจึงกลับมารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน
ภาพถ่ายโดย cottonbro studio: Pixcel
4. แบ่งบทบาทนักเรียนในกิจกรรมกลุ่มด้วยเลขประจำตัว
หากคุณครูมีกิจกรรมการเรียนรู้ และมีการแบ่งนักเรียนให้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ครูกำหนดให้นักเรียนแต่ละคนมีเลขประจำตัว เพื่อง่ายต่อการกำหนดบทบาทของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่ม ขณะดำเนินกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งง่ายต่อการตอบคำถามในชั้นเรียน ยกตัวอย่างเช่น แต่ละกลุ่มศึกษาข้อมูลต่าง ๆ และหาคำตอบจากคำถามหลายข้อร่วมกันในกลุ่ม จากนั้นครูเรียกหมายเลขใดหลายเลขหนึ่งให้ตอบคำถามใดคำถามหนึ่ง คนในทีมที่มีหมายเลขประจำตัวที่ถูกเรียก จะทำหน้าที่ตอบคำถามนั้น ๆ
5. แสดงละคร
ให้นักเรียนจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนที่คุณครูสอน เช่น เหตุการณ์ในขณะเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างอังกฤษกับสยาม การเดินทางค้าขายทางทะเลของจีน การเข้ามาของศาสนาต่าง ๆ จากการเปิดเสรีทางการค้าของอโยธยา เป็นต้น
ภาพถ่ายโดย Kyle Head: Unsplash
6. สืบคนเรื่องราวบุคคลสำคัญ
ให้นักเรียนค้นคว้าเกี่ยวกับบุคคลที่มีบทบาทรองในประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์บทบาทที่คนผู้นั้นอาจจะมีในเหตุการณ์สำคัญ อีกทางหนึ่งคือ ให้นักเรียนค้นคว้าเกี่ยวกับคนในชุมชนของตัวเอง และพิจารณาสิ่งที่คนนั้นทำให้กับชุมชน
7. กิจกรรมนอกห้องเรียน
7.1 จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์
ให้นักเรียนจัดทำนิทรรศการเกี่ยวกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ครูให้นักเรียนจัดแสดงนิทรรศการอาจเป็น โปสเตอร์ ภาพ เสียง หรืออื่น ๆ เช่น นิทรรศการศิลปะที่รวบรวมวัตถุสิ่งของจากในชุมชน นิทรรศการชุดแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ หรือเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการโลกก่อนประวัติศาสตร์
ภาพถ่ายโดย Emre Can Acer: Pixcel
7.2 นักข่าวประวัติศาสตร์
ให้นักเรียนทำบล็อก หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของชั้นเรียน นำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์
7.3 ละครประวัติศาสตร์
ให้นักเรียนจัดทำละครหรือการแสดงอิงประวัติศาสตร์ อาจมีการแสดงในงานของโรงเรียนหรืองานชุมชน
7.4 ลงพื้นที่เรียนรู้
ครูพานักเรียนออกไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ครูอาจพานักเรียนเรียนรู้ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การออกไปสำรวจพื้นที่มรดกโลก และจัดการท่องเที่ยวเชิงสังคมวัฒนธรรมของ UNESCO เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชนชาติ หรือประเทศ เอกลักษณ์ของความเป็นชาติ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และความเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน
· แนะนำคุณครูเข้ามาศึกษาสถานที่น่าสนใจได้ที่ https://visitworldheritage.com/en/home หรือ https://bit.ly/UNESCOWorldHeritageSiteTour
7.5 เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนรอบตัว
ครูให้นักเรียนสำรวจละแวกบ้านของตัวเอง หาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง หรือสถานที่ตามที่เรียนรู้มาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของย่านที่อยู่อาศัยของตัวเอง และพูดคุยกับเจ้าของ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่อยู่อาศัยของตน อาจนำมาพูดคุยกันในชั้นเรียน ครูอาจเชิญบุคคลในชุมชน ผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อนบ้าน เจ้าของร้าน และคนขายอาหาร เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในชุมชน หรือพื้นที่รอบชุมชน อีกทั้งนักเรียนยังจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น เช่น เหตุการณ์ที่เกิดในละแวกโรงเรียนของตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิธีการที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ช่วยให้คุณครูบรรลุการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและราคาไม่แพง
· แนะนำคุณครูเข้าชมตัวอย่างกิจกรรม: Local Living Heritageโดย UNESCO Culture
7.6 เชิญผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคคลสำคัญจากภายนอกมาให้ความรู้ในชั้นเรียน
เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน และให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาเชิงลึก และประสบการณ์จริงจากผู้รู้ ครูสามารถเชิญบุคคลภายนอกมาให้ความรู้ หรือจัดกิจกรรม workshop ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียนได้ เนื่องจากการสะสมประสบการณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในบางพื้นที่ เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และความพยายามของพวกเขาในการอนุรักษ์ พัฒนา สร้างเอกลักษณ์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น
7.7 เชื่อมเครือข่ายโรงเรียน
ครูจัดการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ หรือประเทศต่าง ๆ นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนอีเมล์ ภาพถ่าย ประวัติศาสตร์บอกเล่า วิดีโอ ฯลฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างกันได้
7.8 เรียนรู้อดีตและปัจจุบันผ่านภาพถ่าย
นักเรียนศึกษาภาพถ่ายเก่า โดยสืบหาว่า ถ่ายที่ใด แล้วหาภาพถ่าย หรือไปถ่ายภาพสถานที่เดียวกัน และพิจารณาความเปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลา สาเหตุ และบริบทของความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น อยุธยา (หรืออโยธยา) เมืองท่าของไทยในอดีต หรือ มะละกา เมืองท่าที่รุ่งเรืองในอดีต และกาลเวลา ความเจริญของยุคสมัยทำให้เมืองท่าแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ครูสามารถชวนนักเรียนวิเคราะห์สาเหตุ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และอนาคตของสถานที่นั้น ๆ ตามสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
· แนะนำคุณครูเข้าชมตัวอย่างกิจกรรม:ไอเดียกิจกรรมผู้คนและถิ่นฐาน: ณ ชายทะเลเมืองมะละกา
บทส่งท้าย
ในการเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ ครูสามารถขยายขอบเขตการเรียนรู้สังคม และวัฒนธรรมไปยังภูมิภาคอื่นได้ โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านวัฒนธรรมในอดีต หรือผ่านมรดกที่จับต้องไม่ได้ของยุคปัจจุบัน และอาจพานักเรียนทำนายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมในอนาคต
Dear-ASIA.com เล็งเห็นว่า ไอเดียการสอนเหล่านี้ จะช่วยให้ห้องเรียนของคุณครูมีชีวิตมากขึ้น นักเรียนได้มีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม สนุกสนาน ที่สำคัญคือ ให้โอกาสนักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ต่อยอด หรือผสมผสานความรู้ดั้งเดิมจากมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคม หรือชุมชน เข้ากับการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง แม้กระทั่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่มีแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
เร็ว ๆ นี้ UNESCO ได้จัดโครงการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ 'นำมรดกที่มีชีวิตสู่ห้องเรียนในเอเชียแปซิฟิก’ (Bringing Living Heritage to the Classroom in Asia-Pacific) ร่วมกับคุณครูในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งช่วยให้คุณครูสร้างแผนการสอนที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม งานหัตถศิลป์ เทศกาล และพิธีกรรมในชุมชนท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และมรดกมีชีวิตเชื่อมโยงกับนักเรียนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องมรดกที่มีชีวิต
นอกจากนี้โครงการฯ ยังจัดทำสื่อการเรียนรู้สำหรับครู และสื่อเผยแพร่ พร้อมแผนการสอนเกี่ยวกับวิธีการบูรณาการมรดกที่จับต้องไม่ได้ในโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนหลายแห่งทั่วภูมิภาคสามารถเพลิดเพลินกับประสบการณ์การเรียนรู้เชิงบวก เนื้อหาเหล่านี้ได้รับการแปลงเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับครูและนักการศึกษาใน GCED Online Campus เข้าถึงได้ที่นี่ https://bit.ly/GCED-UNESCO
ที่มาข้อมูลไอเดียการสอนจาก UNESCO
· ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วม: ชุดการสอนสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าถึงได้จาก https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000373539
บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย