
0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ
Big idea

การสอนคำศัพท์สำคัญ และกรอบคิดหลัก (Key Concept) ของเนื้อหา
ในการเรียนวิชาสังคมศึกษา นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้คำศัพท์สำคัญมากมายในบทเรียน แต่อาจไม่เคยพบในชีวิตประจำวันเลย เรามีหลายกิจกรรมในการให้นักเรียนได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ที่สำคัญอย่างแยบยล และเป็นกลวิธีการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติด้วย (Learning by Doing)
นักเรียนจำเป็นต้องได้พบเจอกับคำศัพท์ใหม่ในบทเรียนซ้ำ ๆ หลายครั้ง เพื่อให้เข้าไปอยู่ในคลังคำศัพท์ที่นักเรียนใช้งาน การพบเจอคำซ้ำ ๆ จะทำให้นักเรียนค่อย ๆ เข้าใจความละเอียดอ่อนในความหมายของถ้อยคำและเรียนรู้ว่าจะใช้คำศัพท์นั้นอย่างไรเวลาพูด หรือเขียน ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับคำต่าง ๆ ครูจำเป็นต้องสร้างโอกาสที่จะได้นำคำเหล่านั้นมาใช้ซ้ำ ๆ ในบทเรียน โดยอาศัยกิจกรรม ดังต่อไปนี้
*เนื้อหาในบทความนี้ ประกอบไปด้วยสาระความรู้ จาก Dear-ASIA.com และกิจกรรมการสอนที่น่าสนใจดัดแปลงจาก โครงการสร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์ร่วมรากอุษาคเนย์ โดยแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก (UNESCO)*
1. สมุดคำศัพท์ของนักเรียน
ให้นักเรียนบันทึกคำศัพท์ใหม่ๆ ลงในสมุดคำศัพท์ที่แยกเล่มต่างหาก หรือที่ด้านหลังของสมุดแบบฝึกหัด นักเรียนสามารถเลือกวิธีการจดบันทึกที่เหมาะสมที่สุด (โดยครูให้คำแนะนำก่อน) เช่น คำนิยาม คำแปล ตัวอย่างประโยคที่ใช้ ตัวอย่างเช่น
· ลัทธิทุนนิยม: ระบบสังคมและเศรษฐกิจ ที่ทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน (บุคคลหรือบริษัท) และดำเนินการเพื่อผลกำไร
· ลัทธิทุนนิยม: ตรงข้ามกับลัทธิคอมมิวนิสต์
2. แบบฝึกหัดการจับคู่
ครูให้รายการคำศัพท์แก่นักเรียนเพื่อทำการจับคู่กับความหมาย ซึ่งจะช่วยให้ครูประเมินความรู้ของนักเรียนเกี่ยวกับคำศัพท์เหล่านี้ เมื่อครูเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง ครูสามารถยกตัวอย่าง หรือให้นักเรียนลองใช้คำศัพท์นั้นในบริบทที่เกี่ยวข้อง หรือนักเรียนยังสามารถทดสอบกันเองเป็นกลุ่มย่อย หรือเป็นคู่ด้วยการอ่านความหมายให้เพื่อนจับคู่กับคำศัพท์ที่ตรงกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เรื่อง การค้าเครื่องเทศ
คำชี้แจง จงจับคู่คำต่อไปนี้กับความหมายของคำ
ช่องแคบ หมู่เกาะ ให้ทุน กบฎ เส้นรอบวง กษัตริย์ ต้นหน
1. ____________ ทางน้ำแคบ ๆ ที่เชื่อมระหว่างทะเล หรือมหาสมุทร
2. ____________ ระยะทางตามเส้นขอบวงกลม
3. ____________ ราชา หรือราชินี
4. ____________ คนทำหน้าที่บังคับเรือโดยใช้ดวงอาทิตย์ ดาว และแผนที่
5. ____________ กลุ่มของเกาะ
6. ____________ ให้เงินเพื่อดำเนินกิจการ
*ครูอาจมีจำนวนคำศัพท์ มากกว่าจำนวนความหมาย เพื่อเพิ่มระดับความยากในการวัดความรู้ของนักเรียน
3. เติมคำในช่องว่าง
ครูอาจให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดนี้ควบคู่ไปกับแบบฝึกหัดการจับคู่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจคำศัพท์
ผลิตภัณฑ์ปลาที่ผ่านการหมักจะกลายเป็น‘..........................’และไม่ถือว่าดิบแล้วถึงแม้จะไม่ทราบว่าความคิดในการหมักปลาเพื่อ...................แพร่หลายมาจากโรมและกรีกโบราณมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าหรือไม่ ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปลาหมักในภูมิภาคนี้ก็แสดงให้เห็นถึง............................ของคนท้องถิ่นในการถนอมรักษาปลาที่หาได้ตามฤดูกาลเพื่อจะได้มีโปรตีนเสริมในอาหารตามที่ต้องการ
4. ผนังคำ (Word Wall)
ครูอาจทำผนังคำไปด้วยระหว่างการเรียนในชั้นเรียน โดยกำหนดให้มีกรอบคิดหลัก (Concept) จากนั้นให้นักเรียนเพิ่มเติมกลุ่มคำศัพท์ภายใต้กรอบคิดนั้นลงบนผนังคำ ครูอาจสรุปคำศัพท์และนิยามภายหลังกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อทบทวนความหมายและบริบทการใช้งานของคำศัพท์ที่ได้เรียนรู้ในคาบเรียน
· ตัวอย่างเช่น กรอบคิดหลัก: ระบบทุนนิยม
· คำศัพท์ที่เติมเข้าไปภายใต้กรอบคิดหลัก: ทุน การจำนอง ดอกเบี้ย กู้เงิน หนี้สิน
· แนะนำใช้งานเว็บไซต์นี้: Wordwall

5. เขียนตามคำบอก
ครูเตรียมรายการกรอบคิดหรือคำศัพท์ 8 – 10 คำที่ต้องการทบทวนก่อนเริ่มชั่วโมงเรียน จากนั้นครูอ่านความหมาย โดยให้นักเรียนเขียนคำศัพท์ที่ตรงกับความหมายนั้นลงในสมุดของตัวเอง นักเรียนอาจแลกสมุดกันตรวจ และครูเป็นผู้เฉลยคำตอบ
6. ปริศนาอักษรไขว้
เป็นกิจกรรมที่ท้าทายให้นักเรียนนึกคำที่ตรงกับความหมายที่ให้ในปริศนาอักษรไขว้ ครูสามารถสร้างปริศนาอักษรไขว้ได้ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์มากมาย
· ดาวน์โหลดสื่อประกอบการเรียนปริศนาอักษรไขว้ หัวข้อ เครื่องเทศ คลิกที่นี่
· ดาวน์โหลดเฉลยสื่อประกอบการเรียนปริศนาอักษรไขว้ หัวข้อ เครื่องเทศ คลิกที่นี่
· แนะนำใช้งานเว็บไซต์นี้: crosswordlabs

ที่มาข้อมูลไอเดียการสอนจาก UNESCO
· ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วม: ชุดการสอนสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าถึงได้จาก https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000373539
บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย