EN | TH
บทความน่าสนใจ
การศึกษายุคใหม่ ก้าวสู่ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ บนความท้าทายในยุค ‘ดิจิทัลดิสรัปชั่น’
คอนเทนต์

0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ

Focus

การเปลี่ยนจากโลก “อะนาล็อก” (Analog) สู่ยุค “ดิจิทัล” (Digital) เพื่อพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งการท้าทายและโอกาสทางการศึกษาที่เรียกว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” (Disruption)

ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของ “โรค” สู่การเปลี่ยนแปลง “โลก” ไปอย่างสิ้นเชิง คงไม่มีใครคาดคิดว่าโรคอย่าง “โควิด-19 ” คือชนวนสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ถือเป็นด้านที่ได้รับผลกระทบถึงขีดสุดยิ่งกว่าครั้งใดในอดีต เมื่อพิจารณาว่าในอดีตที่เคยมีสงคราม ปัญหาทางการเมือง หรือวิกฤติเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ไม่เคยกระทบต่อโลกทางการศึกษาอย่างกว้างขวางและลงลึกดังเช่นครั้งนี้มาก่อน ที่เป็นการเปลี่ยนจากโลก “อะนาล็อก” (Analog) สู่ยุค “ดิจิทัล” (Digital) เพื่อพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งการท้าทายทางการศึกษาที่เรียกว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” (Disruption) ต่อจากนี้

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ไม่ต้องมีครูก็ได้ ในยุคดิสรัปชั่น” หรือไม่ ? ประโยคดังกล่าวอาจจะฟังแล้วดูรุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อจิตใจคนที่มีวิชาชีพครูไม่มากก็น้อย  โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวจนทำให้ใครหลายคนมองว่า โลกแห่งการศึกษาที่มีมากกว่าในห้องเรียนนั้นมันเป็นสิ่งที่ท้าท้ายและสามารถค้นหาศาสตร์การเรียนรู้ได้ใน “แพลตฟอร์ม” (Platform) จากช่องทางต่าง ๆ 

ในช่วง 3 – 4 ปี ก่อนหน้าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19  อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาในระบบเริ่มมีการปรับตัวโดยใช้ช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายและระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเสริมการศึกษารูปแบบดั้งเดิมมากขึ้น แต่โรคระบาดก็ได้ช่วยตอกย้ำให้ ครู พ่อแม่ นักเรียน นักศึกษา ได้ตระหนักว่า  “การศึกษาในระบบ” แบบที่ต้องเข้าไปเรียนด้วยกันที่โรงเรียน หรือสถานที่ที่กำหนดไว้อย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยหลักสูตรและสื่อการสอนที่เหมือน ๆ กัน โดยมีครูอาจารย์เป็นผู้มีบทบาทเดี่ยวในการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น ได้กลายเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คนขึ้นมา

เพราะสถานการณ์การระบาด ทำให้ต้องดำเนินการรักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงการให้ทำงานและเรียนจากที่บ้าน  จนเกิดปัญหา “ช่องว่าง” ระหว่างครูและลูกศิษย์  โดยไล่ปัญหาจากระดับช่วงชั้นปฐมวัยสู่ช่วงชั้นระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นกำลังผลิตสำคัญใน “ตลาดแรงงาน”  ทำให้หลายๆคนจึงมองว่าการศึกษาในห้องเรียนมันถูกกด “ปิดชั่วขณะ”และกลับมากดเปิดอีกครั้งเมื่อสภาวะทุกอย่างเริ่มจะถูกคลี่คลายแต่ยังไม่เต็มที่

 

เมื่อระบบการศึกษาทั่วโลกจำเป็นต้องปรับตัวและคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆออกมา เพื่อเปลี่ยนการศึกษาจาก “ออฟไลน์” มาเป็น “ออนไลน์” อย่างเต็มรูปแบบ การศึกษาใน
ยุคดิสรัปชั่นจึงถือว่าเป็นการศึกษาที่สะท้อนปัญหาและต้อง “ปรับตัว” อย่างรวดเร็ว เมื่อห้องเรียนในระบบเริ่มไม่สามารถตอบโจทย์การศึกษาของผู้เรียนได้อีกต่อไป 


มนุษย์จึงต้องค้นสร้างนวัตกรรมเพื่อมาสอดรับความต้องการทางด้านการศึกษาในยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทุกด้าน ซึ่งปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะทำอย่างไรให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มาสร้างการศึกษาให้ประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือการสร้างนวัตกรรมที่ผลิตออกมาเป็นแพลตฟอร์มบนหน้าเว็บไซต์ต่างๆ โดยก่อนหน้านี้เราใช้แพลตฟอร์มอย่าง Google  และYoutube เพื่อสืบค้นข้อมูลทางการศึกษาหรือสิ่งที่สนใจมาช่วยเสริมในการศึกษาหรือการทำงาน  แต่ด้วยสภาวะข้อมูลที่ท่วมท้น แพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลอย่างดารดาษจึงไม่ใช่คำตอบเดียว 

ในทางกลับกัน การเรียนรู้ยังคงจำเป็นต้องมีสื่อการเรียนที่หลากหลายและคงไว้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ทั้งระดับภายในตนเองและกับผู้ร่วมเรียนคนอื่นๆ  จึงมีการต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้มีการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเรียนในระบบห้องเรียนได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการ เปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบ Live Streaming  ที่พัฒนาเทคโนโลยีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ได้ในหน้าแพลตฟอร์มต่างๆ

อีกสิ่งสำคัญคือการพัฒนา ระบบ AI (Artificial Intelligence) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งมีหลายสำนักที่ได้เร่งเปิดตัวการพัฒนาช่องทางการค้นหาความรู้ใหม่ๆที่นอกเหนือจากในห้องเรียน นักเรียนสามารถสืบค้นหาความรู้ หรือทักษะวิชาได้ทางออนไลน์และทางโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก จึงมีหลากหลายเว็บไซต์เปิดตัวสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเสริมไปกับการเรียนในระบบแบบง่ายๆ
 

Microlearning ออกแบบการสอน “Less is More” เน้นเนื้อหาน้อยแต่เรียนรู้ได้มาก

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงและเหมาะสมสำหรับการเรียนเสริมทักษะวิชาในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นอย่าง แพลตฟอร์ม “ไมโครเลิร์นนิ่ง” (Microlearning) เป็นสื่อดิจิทัลที่มีแนวคิดในการนำเสนอเนื้อหาการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในข้อมูลขนาดเล็ก โดยนำส่งความรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  “ไมโคร” หรือการเรียนทีละเล็กทีละน้อยในสภาพแวดล้อมของสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมไปกับกิจวัตรประจำวันของผู้เรียนได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีแบบ “Push” ที่จะส่งข้อมูลเข้าสู่อุปกรณ์มือถือของผู้เรียนตามที่ผู้จัดการเรียนรู้กำหนดให้ โดยการออกแบบการสอน “Less is More” เน้นเนื้อหาน้อยแต่เรียนรู้ได้มาก ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถควบคุมสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

แพลตฟอร์มไมโครเลิร์นนิ่งลักษณะนี้ในเว็บไซต์ต่างๆมีการแบ่งแยกหมวดหมู่ (Category) สำหรับช่วงชั้นการศึกษาของเด็กในช่วงวัยการศึกษาการเรียนรู้แต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวสารคดีต่างๆ รวมไปถึงบทความ และสิ่งที่เข้ามาเสริมนอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ในหมวดหมู่ต่างๆ การใช้ภาพและสื่อวิดิทัศน์ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในสถานที่จริงโดยไม่ต้องเสียเวลาจ่ายเงินไปกับค่าเดินทางในยุคของโรคระบาดเช่นนี้ โดยในบางเว็บไซต์อาจจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายแบบแพคเกจ เพื่อนำเงินเหล่านั้นไว้สำหรับเป็นทุนการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต  หรือบางสถาบันการศึกษาเองก็จับมือเว็บไซต์เหล่านั้นเข้าเป็น “พาร์ทเนอร์” (Partner) ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบทั้ง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ให้ควบคู่ไปด้วยกันได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจ และเป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารเพื่อการศึกษาในยุค “ดิสรัปชั่น” นั้นได้ผลดีและช่วยส่งเสริมการศึกษาทั้งในระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่จำกัดกรอบเรื่องอายุและคุณสมบัติของผู้เรียน เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการจับมือกับบริษัทสกิลเลน (SkillLane) เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ โดยต่างฝ่ายต่างช่วยกันเสริมจุดแข็งที่ต่างมีให้กลายเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ที่ดียิ่งขึ้น โดย บริษัทสกิลเลน มีจุดเด่นในการเป็นออนไลน์เลิร์นนิ่งแพลตฟอร์ม และดิจิทัลเทรนนิ่งแพลตฟอร์ม จากรายงานของประชาชาติธุรกิจ สกิลเลน เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นบริษัทที่เติบโตรวดเร็วเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจการศึกษา และอันดับ 36 ของบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีชื่อเสียงในสถาบันการศึกษาภาครัฐที่เข้มแข็ง มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีกลุ่มนักศึกษาปัจจุบันรวมถึงศิษย์เก่า ซึ่งมีผู้คนที่ให้ความเชื่อถือที่พร้อมจะเข้ามาเรียนในแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก การร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสกิลเลน ทำให้เห็นว่าสถาบันการศึกษาในระบบ ที่ทำการเรียนการสอนกระแสหลักเองยังต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดโควิด-19 และแนวโน้มการศึกษาที่เริ่มเข้าสู่แนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong  Learning)

ดูเหมือนว่า การศึกษาต่อจากนี้ จะไม่ใช่ภาระของฝ่ายผู้เรียนกับผู้ปกครอง ที่ต้องคอยรับบริการจากสถาบันการศึกษาเท่านั้น เพราะตัวอย่างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จับมือกับบริษัทสกิลเลน ทำให้เห็นการ “ทลายกำแพงการเรียนรู้” ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน และมีอาจารย์เพียงคนเดียวคอยสอนศิษย์หลาย ๆ คน ภายใต้หลักสูตรที่วางอย่างตายตัว มาเป็นการร่วมมือกับภาคส่วนนอกสถาบันการศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ มาเปิดช่องทางการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ข้ามวิชา ไร้ข้อจำกัดด้านอายุ สถานที่ และยังมีความประหยัดเพราะไม่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนแบบเหมาจ่ายรวมถึงไม่ต้องเดินทางเข้าห้องเรียนแทบทุกวันอย่างเดิม และยังสามารถเก็บหน่วยการเรียนรู้สะสม เพื่อประกอบการรับวุฒิบัตร หรือแม้แต่การรับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาที่ปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัลเลิร์นนิ่งแพลตฟอร์มแล้ว

สรุปแล้ว การศึกษายุคใหม่ต่อจากนี้จะเข้าสู่ดิจิทัลเลิร์นนิ่งแพลตฟอร์มอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การศึกษาแบบเดิมกำลังจะถูกดิสรัปชั่น โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่สำคัญ และทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่เป็น “ยาขม” ของระบบการศึกษาไทยมายาวได้ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการเปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้ที่ทลายขีดจำกัดและเข้าสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถตอบโจทย์ในการเรียนรู้ได้หลากหลาย 

เช่น การสร้างกิจกรรม Self-Learning แก่ผู้เรียน  การสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาในยุคโรคระบาดโควิด-19 หรือแม้กระทั่งการนำแพลตฟอร์มสื่อมีเดียมาใช้เป็นองค์ประกอบสำหรับครูผู้สอนที่นำไปทำเป็นผลงานการเลื่อนวิทยฐานะ โดยมีเครื่องมือดิจิทัลสำหรับการเรียนการสอนที่อยู่ในมือ เพราะฉะนั้นหากทุกคนเปิดใจสำหรับการศึกษาในรูปแบบใหม่ เราอาจจะไม่ต้องเห็นภาพของเด็กๆแบกกระเป๋ากันจนหลังแอ่น หรือโอกาสทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถเรียนข้ามศาสตร์ได้เพื่อนำไปสู่ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” ที่แท้จริง


ผู้เขียน จิราพร หนูสง

—-----------------------------------------------------------------------------------

บรรณานุกรม

กรินทร์ ชนประชา (2562). การศึกษาตลอดชีวิต . แผนกวิชาการศึกษาชนบทคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

ณัฐพล ธนเชวงสกุล /เอกพรรณ ธัญญาวินิชกุล (2563) .การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาสู่บทบาทสถาบันอุดมศึกษาเพื่อ

การพัฒนาท้องถิ่น (EDUCATION TRANSFORMATION INTO THE ROLE OF HIGHER EDUCATION FOR LOCAL DEVELOPMENT).หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ดร. เจริญ ภูวิจิตร์ .การจัดการเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง (2563) . ครูในยุค Disruption . กรุงเทพฯ มติชนออนไลน์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย(2564). เมื่อโควิดดิสรัปต์การศึกษา : เปิดบทเรียนความเหลื่อมล้ำในวันที่โลกติดไวรัส. ความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

กมลชนก พูลสวัสดิ์, รุ่งนภา วันเพ็ง, ศศธร ห่มซ้าย และพงศ์ประพันธ์ พงษ์โสภณ(2565) .ปัญญาประดิษฐ์กับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ (ARTIFICIAL INTELLIGENT AND SCIENCE TEACHING) วารสารครุ ศาสตร์อุตสาหกรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน

นายไพรัช กิจถาวรชัยสกุล. นวัตกรรม AI สู้ภัย COVID-19 . สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล , สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ปิติ ศรีแสงนาม (2561) . 7 บทเรียนการพัฒนาไต้หวัน. กรุงเทพ ฯ The101.world

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  (2564).  SkillLane ผงาดเป็นอันดับหนึ่งของบริษัทที่เติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก.  สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2565. จาก https://www.prachachat.net/public-relations/news-649696

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิไลวรรณ วงศ์จินดา , ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิมล พิบูลย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนันท์ คัมภิรา

นนท์ (2564) .แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะการเรียนในศตวรรษที่ 21(Digital Learning Platform for 21st Century Skills of Education Section). กลุ่มสาขาวิชาทางการศึกษา  คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เงินงบกองทุนส่งเสริมวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2564

ไต้หวัน ก้าวไกลในสากล บนรากวัฒนธรรม. เว็บไซต์ : โพสต์ทูเดย์.

เว็บไซต์ : Nationalgeographic

รายการ : กาแฟดำ ค่ำนี้  : การศึกษาในยุคดิสรัปชั่น (26เม.ย.62) | 9 MCOT HD ช่องทาง Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=b7kYaG9uoWs

รายการ : The Secret Sauce มหาวิทยาลัยกำลังตาย? มธ.จับมือ SkillLane ดิสรัปต์ใหญ่ ใครก็ออกแบบปริญญาได้  ช่องทาง Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=6utEvM9ekXs

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก: Unsplash

บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย

มาเป็นสมาชิก Premium กับเราในราคาพิเศษ ดูรายละเอียด
เข้าสู่ระบบ สำหรับองค์กร
Dear-ASIA.com Enterprise
ลงทะเบียน
เพื่อเป็นสมาชิก Dear-ASIA.com
หรือ
เคยลงทะเบียนแล้ว เข้าสู่ระบบ คลิก
เข้าสู่ระบบ สำหรับ
Premium Membership
หรือ
หากคุณไม่เคยลงทะเบียน สมาชิกใหม่ คลิก