0 รูปภาพ, 0 วีดีโอ
Focus
สังคมและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ของประชากรในแต่ละประเทศ จากการสำรวจในภาพรวมพบว่ามีชนเผ่าในอาเซียนมากกว่า 300 ชนเผ่าซึ่งต่างมีวัฒนธรรม ภาษา และถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน และหากพิจารณาเฉพาะตระกูลใหญ่ทางภาษา ก็จะมีถึง 5 ตระกูลที่แตกต่างกัน ได้แก่
ซึ่งได้แก่ชาวมอญ เขมร ลัวะ ละว้า ข่า ม้อย เป็นต้น
1. กลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมรหรือกลุ่มออสโตรเอเชียติก ซึ่งได้แก่ชาวมอญ เขมร ลัวะ ละว้า ข่า ม้อย เป็นต้น
2. กลุ่มตระกูลภาษาชวา-มลายู หรือ ออสโตรเนเชียน ซึ่งได้แก่ ชาวชวา มลายู จาม มอแกน มันนิ-ซาไก เป็นต้น
3. กลุ่มตระกูลภาษาไทย-ลาว ซึ่งได้แก่ ชาวไทย ลาว จ้วง หลี่ อาหม เป็นต้น
4. กลุ่มตระกูลภาษาจีน-ฑิเบต ซึ่งได้แก่ ชาวเมียนมา กะเหรี่ยง อาข่า ปะด่อง เป็นต้น
5. กลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี้ยน ซึ่งได้แก่ ชาวแม้ว เย้า เป็นต้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงความหลากหลายของกลุ่มคนจากถิ่นที่อยู่อาศัย จะพบว่า ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ เช่น ชาวไทย ชาวเมียนมา ชาวกัมพูชา ชาวเวียดนามตอนใต้ ชาวชวา จะมีความชำนาญในการปลูกและพัฒนาพันธุ์ข้าว มีโครงสร้างทางสังคมและอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานและประกอบกสิกรรม สามารถรวบรวมผลผลิตและแรงงานมาใช้สร้างถาวรวัตถุทางศาสนาและการปกครองขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง เช่นชาวกะเหรี่ยง แม้ว อิฟูเกา จะทำการกสิกรรมขนาดเล็ก เก็บของป่าและล่าสัตว์ มีลัทธิความเชื่อที่อิงแอบกับธรรมชาติ ผีฟ้า ผีป่า ส่วนผู้คนที่อยู่ในหมู่เกาะและชายฝั่งทะเล เช่น ชาวมลายู ชาวมอแกน จะมีความสามารถในการทำประมง เดินเรือ และพัฒนาบ้านเมืองในเชิงเป็นเมืองท่าค้าขายแลกเปลี่ยน เป็นต้น
อารยธรรมที่ส่งผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศทั้ง 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมที่หลากหลาย คือ ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย จีน อาหรับ และตะวันตก ดังนี้ อารยธรรมอินเดียและจีนนั้น เป็นอู่อารยธรรมใหญ่ที่อยู่ใกล้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด โดยอารยธรรมอินเดียกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค วัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลเด่นชัดในเวียดนาม เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอย่างยาวนาน
อารยธรรมอินเดีย
จะส่งผลถึงวัฒนธรรมทางความเชื่อ ศาสนา เช่น การนับถือศาสนาพุทธในกลุ่มประเทศ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา ที่เป็นพุทธแบบเถรวาท เนื่องจากรับศาสนาพุทธผ่านอินเดียฝ่ายใต้ที่นิกายเถรวาทรุ่งเรือง โดยรับผ่านการค้าริมชายฝั่งทะเลระหว่างอินเดียกับภาคพื้นแผ่นดินของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ จะได้รับศาสนาพุทธแบบมหายานและฮินดู ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย เนื่องจากมีการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าข้ามมหาสมุทรระหว่างจีนผ่านข้ามคาบสมุทรและช่องแคบต่าง ๆ ในส่วนภาคพื้นทวีป นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะการใช้เครื่องเทศปรุงรสและกลิ่นหอมและการใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงการประกอบอาหารประเภทคลุก เชื่อม แกง ส่วนวัฒนธรรมการแต่งกายชนิดที่ตีและปั่นพืชให้เป็นเส้นใยก่อนทอเป็นผืนแล้วนั่งห่มแบบพันทับหรือเฉวียงคลุมขึ้นไหล่บ่า
อารยธรรมจีน
จะส่งสำคัญต่อประเพณีความเชื่อทางครอบครัว เช่น วัฒนธรรมเคารพบรรพชนที่มีลักษณะผู้ชายเป็นใหญ่ ในส่วนของประเพณีไหว้เจ้านั้น มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับชาวจีนมาอย่างยาวนาน โดยทางจีนจะส่งวัฒนธรรมการจัดวางรูปเคารพและป้ายชื่อศักดิ์สิทธิ์ และการใช้ปีนักษัตรเข้ามา ส่วนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งธรรมเนียมการจัดอาหารอย่างหลากหลายเพื่อเซ่นไหว้ไปให้ชาวจีน และจะเห็นวิถีดังกล่าวได้ที่ชุมชนชาวจีนช่องแคบ หรือชาวบะบ๋ายะหยา ในขณะที่วัฒนธรรมการกิน จะเป็นเรื่องการใช้กระทะ หม้อโลหะในการตุ๋น นึ่ง ย่าง ต้ม ทอด ผัด อาหารประเภทเส้น อย่างที่เรียกว่าหมี่ หรือก๋วยเตี๋ยว ในส่วนของการแต่งกาย ชาวจีนคือผู้นำเข้าผ้าแพรไหมมายังดินแดนแถบนี้ในฐานะเครื่องบรรณาการต่อชนชั้นสูง ซึ่งต่อมากลายเป็นพัตราภรณ์แสดงฐานะและชั้นยศไปในตัว และได้มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเพาะต้นหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหมสำหรับการทำไยไหม รวมถึงการทอผ้าเพื่อตัดเย็บเข้ารูปทรง ในขณะที่อุปกรณ์เครื่องประมงและงานช่างต่าง ๆ ก็มีที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และลักษณะเช่นนี้จะส่งผลต่อการผลิตเครื่องลายครามหรือเซรามิคในกลุ่มประเทศในภาคพื้นแผ่นดินด้วย ในขณะเดียวกันก็มีอารยธรรมห่างไกลที่ส่งอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
อารยธรรมอาหรับ
ที่มาพร้อมการค้าและการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้ อารยธรรมอาหรับมีอิทธิพลครอบคลุมบริเวณคาบสมุทรและหมู่เกาะ เนื่องจากชาวมุสลิมได้เข้ามาทำการค้าและตั้งรกรากในบริเวณนี้ ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชนพื้นเมืองเดิม ประเทศที่ได้รับอารยธรรมอาหรับมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย บูรไน มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย และภาคส่วนที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ยะไข่/โรฮีนจาในเมียนมา กำปงจาม/จามในกัมพูชา เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าอารยธรรมอาหรับนั้นประสบผลสำเร็จอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามสู่ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามไม่น้อยกว่า 300 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรมุสลิมจำนวน 1.6 พันล้านคนทั่วโลก โดยเป็นนิกายซุนนี่ห์อยู่ในกลุ่มประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ภาคใต้ของไทย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่นิกายชีอะห์ ที่แม้มีอยู่ไม่มาก แต่ก็มีอยู่เนิ่นนานก่อนเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เนื่องจากมีพ่อค้าชาวเปอร์เซียได้เข้ามาในบริเวณภูมิภาคนี้มาก่อนเนิ่นนานแล้ว และเนื่องจากอิสลามเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต ทำให้เกิดการแตกต่าง
การรับประทานอาหารและการมีวิถีชีวิตแบบอิสลามขึ้น เช่น สุภาพบุรุษจะต้องสวมเสื้อผ้าคลุมร่างกายปกปิดตั้งแต่หลุมคอถึงข้อมือและข้อเท้า และสวมหมวกกะปิเยาะห์ ในขณะที่สุภาพสตรีจะสวมผ้าคลุมศรีษะเพื่อปกปิดเส้นผมที่เรียกว่าฮิญาบ ซึ่งผู้แต่งกายลักษณะนี้ ก็จะสังเกตได้ง่ายว่าเป็นมุสลิม ในขณะที่วัฒนธรรมด้านอาหาร เช่น การกินอาหารเฉพาะที่อนุมัติ หรือที่เรียกว่า ฮาลาล ซึ่งต้องเชือดโดยไม่ทรมาณ ล้างด้วยน้ำที่ไหล ไม่มีเลือดตกค้างอยู่ภายใน เป็นต้น
อารยธรรมยุโรป
จะกระจายตัวไปทั่วทั้งภูมิภาค เนื่องจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศต่าง ๆ เช่น โปรตุเกส สเปน ดัตช์ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศ สยาม-ไทย ที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม ก็ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกจากสภาพบริบททางการเมืองและสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวไปด้วย ส่วนใหญ่จะได้รับอารยธรรมยุโรปผ่านเครื่องแต่งกายและสถาปัตยกรรม เช่น การแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตและกางเกงสแลค การใส่สูท หรือชุดพระราชทาน/ราชปะแตน ซึ่งได้รับผ่านบริติชราชอีกต่อหนึ่ง รวมถึงวัฒนธรรมการใส่หมวกในช่วงหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนโดยนโยบาย “มาลานำไทย” ในประเทศไทย
ส่วนสถาปัตยกรรมจะเป็นการประยุกต์อาคารห้องแถวแบบจีนและอาคารพื้นถิ่นเดิมที่นิยมสร้างด้วยไม้ เข้ากับวิธีการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก เกิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส หรือ สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนี่ยน เป็นต้นโดยประเทศกลุ่มอินโดจีน อันประกอบด้วย เวียดนาม ลาว กัมพูชา จะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตะวันตกผ่านประเทศฝรั่งเศส ส่วนประเทศเมียนมา มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ จะได้รับอิทธิพลผ่านประเทศอังกฤษ อินโดนีเซียผ่านดัตช์ และฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลผ่านสเปนและสหรัฐอเมริกา ส่วนโปรตุเกสจะส่งอิทธิพลผ่านดินแดนบริเวณช่องแคบมะละกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศมาเลเซีย ส่วนเรื่องอาหารที่สำคัญ คือ การนำพริก (chili) และมะกะกอ (papaya) จากทวีปอเมริกาเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนกลายเป็นอาหารประจำถิ่น รวมถึงอาหารที่รับอิทธิพลจากตะวันตกโดยตรง เช่น ข้าวจี่เวียดนาม ที่ดัดแปลงมาจากบาแก๊ตของฝรั่งเศส เป็นต้น
สำหรับวัฒนธรรมการใช้ภาษา มีการแลกเปลี่ยนยืมคำศัพท์ต่าง ๆ กันโดยทั่วไป ทั้งนี้ปรากฏคำจีน อาหรับ สันสกฤติและบาลี คำตะวันตกต่าง ๆ ที่ถูกยืมมาเป็นคำสามัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ประตู อับเฉา จากจีน
ความท้าทายและแนวทางการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม
ความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ส่งผลดีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมถึงการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาที่หลากหลายภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบุคลิกที่เปิดรับผู้คนที่แตกต่างจากดินแดนอื่นได้ง่าย เช่น จากจีนและอินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกทางหนึ่ง ความหลากหลายเหล่านี้ก็มีผลต่อความขัดแย้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุของความขัดแย้งที่สำคัญ มาจากการถือกำเนิดของรัฐอธิปไตยสมัยใหม่ ทำให้เกิดการคาบเกี่ยวซ้อนทับระหว่างพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์กับพรมแดนทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ จนก่อเกิดเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองการปกครองตามมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการแบ่งแยกดินแดน การเรียกร้องอิสรภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการอพยพข้ามชาติ
ประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้รวมตัวกันในนาม “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรืออาเซียน โดยมีการนำเรื่อง “สังคมและวัฒนธรรม” ขึ้นเป็นเสาหลัก 1 ใน 3 ประการของประชาคมอาเซียน ซึ่งยิ่งแสดงถึงความสำคัญในประเด็นสังคมและวัฒนธรรมในหมู่ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศว่ามีมากเพียงใด
ความท้าทายของอาเซียนที่จะต้องจัดการกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ซึ่งกระทำได้ค่อนข้างลำบาก ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนมีภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตามหลักการพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและชาติพันธุ์ คือ ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย และพยายามลดอคติทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีต่อกัน ไม่เกลียดชัง ไม่ดูถูกหรือรังเกียจ และสร้างความไว้วางใจต่อกัน ทั้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนให้มากขึ้น
ในปัจจุบันอาเซียน มีความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างมีระเบียบแบบแผน และอย่างเป็นทางการมากขึ้น อาทิ การจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานอาเซียน สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance – AHA Centre) การจัดทำ แผนปฏิบัติการของอาเซียน เพื่อร่วมกันตอบโต้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Action Plan on Joint Response to Climate Change) การจัดตั้ง คณะกรรมาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรี และเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC) การจัดทำ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการกำจัดการใช้ความรุนแรงกับสตรีและเด็ก (ASEAN Declaration on the Elimination of Violence Against Women and Children) และการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Declaration on ASEAN Unity in Cultural Diversity)
อีกกลไกหนึ่งของอาเซียนที่ช่วยขับเคลื่อนสร้างความเจริญทางสังคมและวัฒนธรรม คือ กลไกที่ประชุม ASEAN Regional Forum หรือการประชุมภูมิภาคอาเซียน ก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการหารือเรื่องการเมืองความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กฎเกณฑ์ของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา อย่างเป็นกันเอง โดยไม่มีการนำไปอ้างอิงในภายนอก ยังคงได้รับการยอมรับและยึดถืออย่างเคร่งครัด ในเวลาเดียวกัน ประเทศสมาชิก ASEAN Regional Forum ก็ยังเห็นพ้องร่วมกันในการสร้างกลไกย่อย ๆ ขึ้นมา ทั้งในช่องทางแบบเป็นทางการ (Track 1) และช่องทางวิชาการและสาธารณะ (Track 2) เพื่อดำเนินกิจกรรมของที่ประชุมฯ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี (inter-sessional activities) พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ภูมิภาคฯ มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง เพื่อที่จะสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมความมั่นคง และเสถียรภาพในเวทีโลกได้
ในปัจจุบัน บทบาท ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของ ASEAN Regional Forum ได้เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป นอกเหนือจากเป็นเวทีการหารือเรื่องการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่ประชุม ASEAN Regional Forum ยังได้ขยายหัวข้อการหารือให้ครอบคลุม ทั้งเรื่องความมั่นคงแบบดั้งเดิม (Traditional Security Issues) ความมั่นคงแบบไม่ดั้งเดิม (Non-Traditional Security Issues) และปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (New Security Threats) ซึ่งทำให้การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุม ASEAN Regional Forum ครอบคลุม หัวข้อต่างๆ อาทิ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในตะวันออกกลาง การย้ายถิ่นฐานของประชากรอย่างผิดปกติ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การแก้ปัญหาอาชญากรข้ามแดน การป้องกันภัยพิบัติ และการกู้ภัย การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ การต่อต้านการก่อการร้าย การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ความร่วมมือในการลดสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และความมั่นคงด้านไซเบอร์ (Cyber Security) เป็นต้น
บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการใช้งานเนื้อหาและข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ กราฟฟิค เพลง สื่อ และเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ เพื่อการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น และห้ามมิให้ทำการคัดลอก ทำซ้ำ แก้ไข เปลี่ยนแปลง เผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งต่อ เนื้อหา และข้อความ ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือจากบริษัทฯ ผู้ใดละเมิดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย